แบงก์เปิดบริการ dStatement รับส่งข้อมูลดิจิทัลขอสินเชื่อ ค่าฟีไม่เกิน 75 บาท

News

ธปท.ผนึกสมาคมธนาคารไทยและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดบริการ “dStatement” หรือ digital bank statement รับส่งข้อมูลผ่านดิจิทัล เพื่อใช้บริการทางการเงิน-ขอสินเชื่อ อัตราเพดานค่าธรรมเนียมไม่เกิน 75 บาทต่อบัญชี หวังต่อยอดไปสู่น็อนแบงก์-บริการอื่น คาดปีแรกช่วยลดต้นทุน 250-500 ล้านบาท เผยเดือน มิ.ย. 2565 มีธนาคารพร้อมให้บริการ 11 แห่ง

วันที่ 24 มกราคม 2565 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้เปิดบริการ “dStatement” หรือ digital bank statement เป็นการให้บริการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลโดยตรงระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการข้อมูล bank statement เป็นหลักฐานประกอบการสมัครขอใช้บริการทางการเงิน โดยผ่านช่องทาง mobile banking application หรือช่องทางอื่นตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด

สำหรับบริการ “dStatement” ถือเป็นโครงการนำร่องโดยใช้ข้อมูลของประชาชน เพื่อปลดล็อกให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และสามารถเปรียบเทียบการใช้บริการของแต่ละธนาคารได้ และช่วยประหยัดต้นทุน มีความรวดเร็ว และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

อย่างไรก็ดี การให้บริการดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือลูกค้า รวมถึงมีการปกป้องลูแลความปลอดภัยของข้อมูลของลูกค้าไม่ให้รั่วไหล โดยเป็นไปตามพระราชบัญญติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลส่วนบุคคล

 

“โดยในอนาคต ธปท.คาดหวังให้มีการต่อยอดบริการไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) หรือการขยายบริการไปสู่นิติบุคคล จากปัจจุบันสามารถใช้เฉพาะบุคคลธรรมดา รวมถึงการนำข้อมูลการเคลื่อนไหวทางบัญชีไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ หรือบริการอื่น เช่น การใช้ bank statement ไปขอวีซ่า เป็นต้น โดยจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานการแบ่งปันข้อมูล หรือ Open Data Ecosystem ที่จะได้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งผู้ส่ง-รับ และเจ้าของข้อมูล”

ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. กล่าวว่า สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ “dStatement” เบื้องต้นกำหนดเพดานการเรียกเก็บไม่เกิน 75 บาทต่อบัญชี ซึ่งในแต่ละธนาคารจะเรียกเก็บไม่เท่ากัน เนื่องจากแต่ละธนาคารมีระบบแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ต้นทุนค่าธรรมเนียมปรับลดลงจากเดิมที่สถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 100-200 บาทต่อบัญชี โดยธปท.ตั้งเป้าลดต้นทุนหลังประชาชนหันมาใช้บริการ “dStatement” ในปีแรกอาจจะไม่สูง เนื่องจากจะต้องให้ความรู้ประชาชน และให้ประชาชนเข้ามายืนยันตัวตนเข้ามาในระบบมากที่สุด

ดังนั้น จากการคำนวณสถิติคำขอสินเชื่อที่เข้ามาในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 อยู่ที่ 9.6 ล้านคำขอ และคาดว่าในปี 2564 คำขอสินเชื่อจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคำขอ ธปท.คาดหวังให้ประชาชนหันมาใช้บริการนี้ประมาณ 5-10% หรือราว 500,000-1 ล้านคำขอ ซึ่งต้นทุนการให้บริการ 1 คำขอตั้งแต่การส่งเอกสารจนจบกระบวนการจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาท ส่งผลให้ช่วยประหยัดต้นทุนไปได้ราว 250-500 ล้านบาท และในอนาคตหากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากชึ้นและสามารถยืนยันตัวตนเข้าระบบได้มากขึ้นคาดหวังจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการ “dStatement” ประมาณ 50% จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ 2,500-3,000 ล้านบาท

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกสนับสนุนการพัฒนาบริการ “dStatement” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง และช่วยยกระดับการให้บริการของธนาคารแต่ละแห่งให้ สอดคล้องกับกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทย ในการนำระบบเทคโนโลยีมาสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมธนาคาร (Enable Country Competitiveness) ผ่านการสร้างแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนจากกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกันโดยไม่จำเป็น สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคธนาคารในอนาคต

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่พร้อมบริการส่งข้อมูล “dStatement” ตั้งแต่วันนี้จะมีด้วยกัน 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา และเกียรตินาคินภัทร และธนาคารที่พร้อมให้บริการรับข้อมูล “dStatement” มี 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย และเกียรตินาคินภัทร โดยเบื้องต้นการให้บริการทั้ง 3 แห่งจะยังให้บริการอยู่ที่สาขาธนาคาร

และในเดือนมี.ค.จะมีธนาคารของรัฐที่พร้อมให้บริการส่งข้อมูล “dStatement” ด้วยกัน 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารที่พร้อมให้บริการส่งข้อมูลเพิ่มมาอีก 3 แห่ง ได้แก่ กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย และอาคารสงเคราะห์ และในเดือน เม.ย. ธนาคารทีเอ็มบีธนชาตจะพร้อมให้บริการส่งข้อมูล และในเดือนพ.ค.จะเปิดรับข้อมูลได้ และธนาคารไทยพาณิชย์ในเดือ เม.ย. จะสามารถรับข้อมูลได้ และสุดท้ายในเดือน พ.ค. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะเปิดส่งข้อมูล โดย ธ.ก.ส. และออมสินจะรับข้อมูลได้ โดยภายในเดือน มิ.ย. จะมีธนาคารให้บริการทั้งสิ้น 11 แห่ง

“บริการนี้จะช่วยบูรณาการทั้งระบบ โดยผู้ได้ประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะลูกค้า แต่รรวมถึงสถาบันการเงินที่จะยกระดับการให้บริการ เนื่องจากธนาคารต้องใช้ข้อมูลในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งจากเดิมจะต้องใช้กระดาษ แต่บริการ dStatement นี้จะช่วยประหยัดต้นุทนและลดกระดาษที่ปี 2564 มีคำขอสูงถึง 9 ล้านคำขอ และช่วยลดความสุ่มเสี่ยงที่ข้อมูลจะถูกนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยบริการนี้จะส่งผ่านดาต้าและประมวลผลได้ทันที ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ Digital Economy”

นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า บริการ dStatement จะช่วยสร้าง data sharing economy ซึ่งจะทำให้คนตัวเล็กสารมารถเข้าถึงระบบสินเชื่อ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของธนาคารรัฐที่จะทำให้คนตัวเล็กเข้าถึงระบบได้ ซึ่งปัจจุบันฐานลูกค้าของธนาคารรัฐ 3 แห่ง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ออมสิน และ ธ.ก.ส. รวมกันมีทั้งสิ้น 20 ล้านราย

หากสามารถทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงระบบการเงินได้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการ และลดต้นทุนทั้งลูกค้า ธนาคาร และยกระดับประเทศไปสู่ Digital Economy โดยในเดือน มี.ค.นี้ทั้ง 3 ธนาคารพร้อมให้บริการ dStatement

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance