คปภ. เร่งพิจารณาคำร้อง “อาคเนย์” ขอเลิกกิจการ ชงบอร์ดชุดใหญ่ที่มีปลัดคลังเป็นประธาน นั่งหัวโต๊ะชี้ชะตาวันนี้ (28 ม.ค.) แจงเลิกกิจการต้องปฏิบัติตามขั้นตอน
วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (27 ม.ค.) มีรายงานว่า คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะมีการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมคำขอการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
จากนั้น สำนักงาน คปภ. จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) คปภ. ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในวันพรุ่งนี้ (28 ม.ค.) เวลาประมาณ 14.00 น. เพื่อให้พิจารณาว่าจะรับคำขอหรือไม่รับคำขอ
บอร์ด คปภ.อาจยังไม่อนุมัติ “เลิกกิจการ” ทันที
แหล่งข่าวจากวงการประกันภัย กล่าวว่า บอร์ด คปภ.อาจจะให้กลับไปแก้ไขข้อเสนอบางส่วนก่อน แล้วกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะตอนนี้คำขอดังกล่าวไม่นิ่ง มีการยื่นแล้วแก้ไขเปลี่ยนแปลง เดิมพอร์ตประกันภัยอื่น (Non-Covid) จะโอนไปให้ บมจ.อินทรประกันภัย แต่ล่าสุดไม่โอน แต่จะยกเลิกทั้งหมด ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 57 ที่ให้เสนอมาตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันสำหรับกรมธรรม์ที่มีผลผูกพันอยู่ด้วย
ขอเลิกกิจการต้องมีขั้นตอน
ก่อนหน้านี้ ช่วงค่ำวันที่ 26 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน คปภ. ได้ออกข่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชน กรณีที่บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 นั้น
คปภ.ขอเรียนชี้แจงว่า ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย
โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้
1. วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่
2.วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย
3.การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน
4.การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท
ภารกิจกองทุนประกันฯ ไม่ครอบคลุมขอเลิกธุรกิจ
ทางสำนักงาน คปภ. ระบุด้วยว่า สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพเท่านั้น ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดภารกิจของกองทุนฯ ให้ครอบคลุมถึงกรณีบริษัทประกันภัยขอเลิกประกอบธุรกิจเอง
ตั้งทีมติดตามสถานการณ์-พิทักษ์ประโยชน์ผู้เอาประกัน
“ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าตอนนี้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ. โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย”
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance