“กกร.” ยังคงกรอบประมาณการ ศก.ปี 2565 คงเดิมโต 3-4.5% ส่งออก 3-5% และเงินเฟ้อ 1.2-2% หลังประเมินการแพร่ระบาด “โอมิครอน”ไม่รุนแรงแค่ระยะสั้น มอง ศก.จะกลับมาฟื้นได้ไตรมาส 2 แนะเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้า รับห่วงหนี้ครัวเรือนสูง พร้อมเล็งยื่นหนังสือถึงคลังขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ตามเดิมออกไปอีก 2 ปี
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% ส่งออกขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 1.2% ถึง 2.0% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป
“แม้โอมิครอนจะแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 หมื่นรายต่อวัน ประกอบกับการที่เราฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้จำนวนมาก และระบบสาธารณสุขที่มีความพร้อมเราจึงมองว่าโอมิครอนไม่ส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นต้องล็อกดาวน์ คงเป็นช่วงสั้นๆ ในไตรมาสแรก หากไม่เกิดปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2” นายสนั่นกล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้พิจารณากรณีพระราชกฤษฎีกา กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 ฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 มีความไม่ชัดเจน ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบที่จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ตามเดิมออกไปอีก 2 ปี โดยขอพิจารณาออก พ.ร.ก.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ เพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลงอีก 90% ตามมาตรา 55 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกภาคส่วนเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปกฏหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งระบบ หรือ Egulatory Guillotine ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งล่าสุดมีการดำเนินการเสร็จได้ 38.76% โดย กกร.จะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในช่วงการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ 1. ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรทางธุรกิจ SMEs และ Startup 2. ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว 3. ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 4. ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่าและการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น กกร.เองมีความกังวลว่าอาจจะฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องทำให้ครบทุกมิติตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน วินัยการเงิน และภาคที่เข้าถึงแหล่งการเงินทั้งหมดเพื่อให้แก้ไขแบบยั่งยืน แต่สำคัญสุดคือความสมารถสร้างรายได้ที่ดูแลตัวเองและครอบครัวและการเข้าถึงแหล่งการเงินโดยไม่พึ่งหนี้นอกระบบ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน จะสามารถประคองกำลังซื้อได้ระดับหนึ่ง จำเป็นที่รัฐต้องวางมาตรการเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการดูแลสภาพคล่องธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) เป็นต้น
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business